วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย



          นฤบาลบพิตรเผ้า           ภูวนา ยกแฮ
ผายสิหนาทกถา                      ท่านพร้อง
ไพเราะราชสุภา-                     ษิตสื่อ สารนา
เสนอบ่มีข้อข้อง                     ขุ่นแค้นคำไข

         อ้าไทภูธเรศหล้า           แหล่งตะเลง โลกฤๅ
เผยพระยศยินเยง                    ย่านแกล้ว
สิบทิศทั่วลือละเวง                 หวั่นเดช ท่านนา
ไป่เริ่มรอฤทธิ์แผ้ว                  เผือดกล้าแกลนหนี

         พระพี่พระผู้ผ่าน            ภพอุต- ดมเอย
ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด             ร่มไม้
เชิญราชร่วมคชยุทธ์              เผยอเกียรติ ไว้แฮ
สืบกว่าสองเราไสร้                 สุดสิ้นฤๅมี

         หัสดีรณเรศอ้าง            อวสาน นี้นา
นับอนาคตกาล                      ห่อนเพี้ยง
ขัตติยายุทธ์บรรหาร              คชคู่ กันแฮ
คงแต่เผือพี่น้อง                    ตราบฟ้าดินกษัย

         ไว้เป็นมหรสพซ้อง       สุขศานติ์
สำหรับราชสำราญ                 เริ่มรั้ง
บำเทิงหฤทัยบาน                  ประดิยุทธ์ นั้นนา
เสนอเนตรมนุษย์ตั้ง              แต่หล้าเลอสรวง

         ปวงไท้เทเวศทั้ง           พรหมาน
เชิญประชุมในสถาน              ที่นี้
ชมชื่นคชรำบาญ                   ตูต่อ กันแฮ
ใครเชี่ยวใครชาญชี้               ชเยศอ้างอวยเฉลิม

        หวังเริ่มคุณเกียรติก้อง    กลางรงค์
ยืนพระยศอยู่คง                     คู่หล้า
สงครามกษัตริย์ทรง              ภพแผ่น สองฤๅ
สองราชรอนฤทธิ์ร้า               เรื่องรู้สรเสริญ

       ดำเนินพจน์พรากพร้อง  พรรณนา
องค์อัครอุปราชา                  ท่านแจ้ง
กอบเกิดขัตติยมา-                นะนึก หาญเฮย
ขับคชเข้ายุทธ์แย้ง               ด่วนด้วยโดยถวิล

         หัสดินปิ่นธเรศไท้        โททรง
คือสมิทธิมาตงค์                  หนึ่งอ้าง
หนึ่งคือคิริเมขล์มง-             คลอาสน์ มารเอย
เศียรส่ายหงายงาคว้าง         ไขว่แคว้งแทงโถม

          สองโจมสองจู่จ้วง      บำรู
สองขัตติยสองขอชู              เชิดด้ำ
กะลึงกะลอกดู                      ไวว่อง นักนา
ควาญขับคชแข่งค้ำ              เข่นเขี้ยวในสนาม

         งามสองสุริยราชล้ำ      เลิศพิศ นาพ่อ
พ่างพัชรินทรไพจิตร              ศึกสร้าง
ฤๅรามเริ่มรณฤทธิ์                 รบราพณ์ แลฤๅ
ทุกเทศทุกทิศอ้าง                 อื่นไท้ไป่เทียม

          ขุนเสียมสามรรถต้าน    ขุนตะเลง
ขุนต่อขุนไป่เยง                     หย่อนห้าว
ยอหัตถ์เทิดลบองเลบง          อังกุศ ไกวแฮ
งามเร่งงามโทท้าว                ท่านสู้ศึกสาร

          คชยานขัตติเยศเบื้อง   ออกถวัลย์
โถมปะทะไป่ทัน                     เหยียบยั้ง
สารทรงราชรามัญ                  ลงล่าง แลนา
เสยส่ายท้ายทันต์ทั้ง              คู่ค้ำคางเขิน

          ดำเนินหนุนถนัดได้      เชิงชิด
หน่อนเรนทรทิศ                     ตกด้าว
เสด็จแสดงวราฤทธิ์               รำร่อน ขอแฮ
ฟอนฟาดแสงของ้าว             อยู่เพี้ยงจักรผัน

         เบื้องนั้นนฤนาถผู้         สยามินทร์
เบี่ยงพระมาลาผิน                 ห่อนพ้อง
ศัตราวุธอรินทร์                     ฤๅถูก องค์เอย
เพราะพระหัตถ์หากป้อง        ปัดด้วยขอทรง

         บัดมงคลพ่าห์ไท้          ทวารัติ
แว้งเหวี่ยงเบี่ยงเศียรสะบัด    ตกใต้
อุกคลุกพลุกเงยงัด                คอคช เศิกแฮ
เบนบ่ายหงายแหงนให้          ท่วงท้อทีถอย

        พลอยพล้ำเพลียก          ถ้าท่าน ในรณ
บัดราชฟาดแสงพล-              พ่ายฟ้อน
พระเดชพระแสดงดล            เผด็จคู่ เข็ญแฮ
ถนัดพระอังสาข้อน               ขาดด้าวโดยขวา

        อุรารานร้าวแยก             ยลสยบ
เอนพระองค์ลงทบ                ท่าวด้น
เหนือคอคชซอนซบ             สังเวช
วายชิวาตม์สุดสิ้น                 สู่ฟ้าเสวยสวรรค์



แปล (ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย)


              สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชดำรัสอันไพเราะไม่มีสุรเสียงขุ่นแค้นพระทัยเลยแม้แต่น้อยว่า
“ ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งประเทศมอญ พระเกียรคิยศเลื่องลือไปไกลทั่วทั้งสิบทิศ ข้าศึกได้ยินก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ ไม่กล้าสู้รบพากันหนีไป พระเจ้าผู้พี่ปกครองประเทศอันบริบูรณ์ยิ่ง เป็นการไม่สมควรเลยที่พระเจ้าพี่ประทับอยู่ใต้ร่มไม้ เชิญพระองค์เสด็จมาร่วมทำยุทธหัตถีร่วมกัน เพื่อแสดงเกียรคิไว้ให้เป็นที่ปรากฏ ต่อจากเราทั้งสองจะไม่มีอีกแล้ว การรบด้วยการชนช้างจะถึงที่สุดเพียงนี้ ต่อไปจะไม่ได้ไม่พบอีก การที่กษัตริย์ทำยุทธหัตถีกัน ก็คงมีแต่เราสองพี่น้อง ตราบชั่วฟ้าดินสลาย การทำยุทธหัตถีก็เปรียบประดุจการเล่นที่รื่นเริงของกษัตริย์เพื่อให้ชมเล่นเป็นขวัญตาแก่มนุษย์จนถึงเมืองสวรรค์ ขอทูลเชิญเทวดาและพรหมทั้งปวงมาประชุมในสถานที่นี้เพื่อชมการยุทธหัตถี ผู้ใดเชี่ยวชาญกว่า ขอทรงอวยพรให้ผู้นั้นรับชัยชนะ หวังจะให้พระเกียรติยศในการรบครั้งนี้ดำรงอยู่ชั่วฟ้าดิน ว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้กระทำสงครามกัน ใครรู้เรื่องก็จะได้ยกย่องสรรเสริญกันตลอดไป ” เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ตรัสพรรณาดังนั้น พระมหาอุปราชาได้ทรงสดับก็บังเกิดขัตติยะมานะกล้าหาญขึ้น รีบไสช้างเข้าต่อสู้โดยเร็วด้วยความกล้าหาญ ช้างทรงของผู้เป็นใหญ่ทั้งสองพระองค์ เปรียบเหมือนช้างเอราวัณและช้างคิรีเมขล์อันเป็นพาหนะของวัสวดีมาร ต่างส่ายเศียรและหงายงาโถมแทงอยู่ขวักไขว่ สองกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่งามเลิศล้ำน่าชมยิ่งหนัก ประหนึ่งพระอินทร์และไพจิตราสูรทำสงครามกัน หรือไม่ก็เหมือนกับพระรามรบกับทศกัณฐ์ กษัตริย์อื่นในทุกประเทศและทุกทิศไม่เสมอเหมือน กษัตริย์แห่งกรุงสยามก็สามารถต้านพระมหาอุปราชาได้ ทั้งสองไม่ทรงเกรงกลัวกันเลย และไม่ได้ลดความห้าวหาญลงแม้แต่น้อย พระหัตถ์ก็ยกพระแสงของ้าวขึ้นกวัดแกว่งตามแบบฉบับ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรโถมเข้าใส่ไม่ทันตั้งหลักยั้งตัว ช้างทรงของพระมหาอุปราชาได้ล่างใช้งาทั้งคู่ค้ำคางเจ้าพระยาไชยานุภาพแหงนสูงขึ้น จึงได้ทีถนัด พระมหาอุปราชาเห็นเป็นโอกาส จึงเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟันอย่างแรงราวกับจักรหมุน แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระมาลาหลบพร้อมกับใช้พระแสงของ้าวปัดเสียทัน อาวุธของพระมหาอุปราชาจึงไม่ถูกพระองค์ ทันใดนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรเบนสะบัดได้ล่าง จึงใช้งางัดคอช้างของพระมหาอุปราชาจนหงาย ช้างของพระมหาอุปราชาเสียท่าต้องถอยหลังพลาดท่าในการรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเงื้อพระแสงของ้าวฟันถูกพระมหาอุปราชาที่พระอังสาขวาขาดสะพายแล่ง พระอุระของพระมหาอุปราชาถูกฟันจนเป็นรอยแยก พระวรกายก็เอนซบอยู่บนคอช้างเป็นที่น่าสลดใจ สิ้นพระชนม์แล้วได้ไปสถิตในแดนสวรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น